Amazon S3 คืออะไร? ควรใช้เมื่อไหร่? และศัพท์เฉพาะที่ควรรู้

นี่เป็นบทความที่มีเนื้อหาดัดแปลงมาจากบทความภาษาญี่ปุ่นของ Classmethod, Inc. ในหัวข้อ「Amazon S3とは?どういうときに導入するのがお勧め?用語についても解説」หากผู้อ่านสนใจอ่านเนื้อหาต้นฉบับสามารถอ่านได้ที่ลิ้งค์ "บทความต้นฉบับ" ด้านล่าง เนื้อหาในบทความนี้มีการอัพเดทเนื้อหาบางอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นทำให้แตกต่างจากต้นฉบับในบางจุด

“Amazon S3” บริการจัดเก็บข้อมูล (Storage) ของทาง AWS และเป็นหนึ่งในบริการพื้นฐานของ AWS ที่หลายบริษัทเลือกใช้ จุดเด่นหลักๆที่หลายคนทราบคือการที่เราสามารถใช้งานพื้นที่จัดเก็บข้อมูลโดยไม่จำกัดในราคาถูก นอกเหนือจากการจัดเก็บไฟล์ เรายังสามารถใช้งาน Amazon S3 สำหรับวัตถุประสงค์อื่นได้ด้วย บทความนี้จะมาสรุปประโยชน์ของการใช้งาน Amazon S3 และแนะนำ Use Case

สารบัญ
★Amazon S3 คืออะไร
★ประโยชน์ของ Amazon S3
★Use Case การใช้งาน Amazon S3
★สรุป

Amazon S3 คืออะไร?

Amazon S3 ย่อมาจาก "Amazon Simple Storage Service (Amazon S3)"
เป็นบริการการจัดเก็บในรูปแบบอ็อบเจกต์ (Object) ที่ให้บริการโดย AWS ซึ่งการจัดเก็บในรูปแบบนี้ต่างจากการเก็บข้อมูลทั่วไปตรงที่จัดการข้อมูลในหน่วยของ "อ็อบเจ็กต์" เนื่องจากการจัดเก็บในรูปแบบอ็อบเจกต์ใช้โครงสร้าง “ข้อมูลแนวราบ” ทำให้ง่ายต่อการกระจายและขยายข้อมูล ทำให้การจัดเก็บข้อมูลสามารถทำได้อย่างยืดหยุ่นขึ้น

สำหรับท่านที่สงสัยว่าอ็อบเจ็กต์คืออะไร สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ : การจัดเก็บในรูปแบบอ็อบเจกต์คืออะไร

ด้วยคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่จัดเก็บแบบอ็อบเจ็กต์ เช่น ความจุไม่จำกัด ความทนทานสูง และความพร้อมใช้งาน ทำให้เราสามารถใช้ Amazon S3 เพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ตั้งแต่การใช้เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลสำหรับเซิร์ฟเวอร์ไปจนถึงการจัดเก็บข้อมูลที่ใช้ในสำหรับ Back Up หรือใช้กับ Machine Learning

ประโยชน์ของ Amazon S3

ข้อที่ 1 : ความทนทานและความพร้อมใช้งานที่ดีเยี่ยม

Amazon S3 ดำเนินการบน Data Center ที่แข็งแกร่งของ AWS ออบเจ็กต์ของเราจะถูกจัดเก็บบนอุปกรณ์หลายเครื่องใน Availability Zone (AZ) ทำให้มีความทนทานถึง 99.999999999% สามารถพูดได้เลยว่าข้อมูลหายจากความล้มเหลวบน Amazon S3 แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย นอกจากนี้คลาส S3 แบบมาตรฐาน ยังรับประกันความพร้อมใช้งานได้ถึง 99.9%

ตรวจสอบข้อมูลคลาสพื้นที่จัดเก็บได้ที่นี่ : คลาสพื้นที่จัดเก็บ Amazon S3

ข้อที่ 2 : สามารถใช้บริการได้ในราคาถูก

เราสามารถเลือกจ่ายแบบจ่ายตามการใช้งานจริงได้ ราคาต่อหน่วยจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของพื้นที่จัดเก็บข้อมูล ทำให้เราสามารถคุมค่าใช้จ่ายและใช้อย่างประหยัดได้ เช่น ค่าใช้จ่ายของมาตรฐาน S3 สำหรับรีเจี้ยนสิงคโปร์ มีค่าใช้จ่ายเพียง (※)0.025 USD/GB ต่อเดือนสำหรับพื้นที่จัดเก็บ 50 TB และความพิเศษของ S3 อีกอย่างคือ เราไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อจองพื้นที่เก็บข้อมูลสำหรับเผื่อใช้อนาคตได้
(※)ข้อมูลค่าใช้จ่ายที่ปรากฎเป็นข้อมูลของเดือนมิถุนายน 2567

ตรวจสอบค่าบริการปัจจุบันได้ที่ : ราคา Amazon S3

ข้อที่ 3 : สามารถเผยแพร่ Static Content บนเว็บไซต์โดยไม่ต้องใช้เซิร์ฟเวอร์

Amazon S3 มีฟังก์ชั่นที่หลากหลายเพื่อรองรับการใช้งาน ซึ่ง 1 ในฟังก์ชั่นที่มีประโยชน์มากๆของ S3 คือ การโฮสต์เว็บไซต์แบบสแตติก เพราะว่า S3 มีฟังก์ชั่นในการสร้าง URL endpoint สำหรับเข้าถึง Static Content อย่าง ไฟล์ HTML ฯลฯ และสามารถเผยแพร่เว็บไซต์โดยที่ไม่ต้องใช้เซิร์ฟเวอร์ได้

ข้อที่ 4 : สามารถควบคุมระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูล

คุณสมบัติที่มีประโยชน์อีกอย่างนึงของ Amazon S3 คือ เราสามารถกำหนด Life Cycle ของข้อมูลได้ ฟังก์ชั่นนี้จะย้ายข้อมูลที่เราอัปโหลดไปคลาสพื้นที่จัดเก็บอื่นหรือลบ เช่น เมื่อใช้ S3 สำหรับจัดเก็บข้อมูลชั่วคราวและตั้งค่า "Automatically delete after 1 week" เราก็จะสามารถป้องกันการเก็บไฟล์ที่ไม่จำเป็นในพื้นที่จัดเก็บได้ นอกจากการตั้งค่าด้วยหน่วยบัคเก็ต S3 แล้ว เรายังสามารถตั้งค่าด้วยหน่วยขนาดเล็ก เช่น โฟลเดอร์ ทำให้สามารถใช้ S3 รองรับการใช้งานที่ยืดหยุ่น

ข้อที่ 5 : ความยืดหยุ่นในการจัดการสิทธิ์

จุดเด่นอีกอย่างของ Amazon S3 คือการที่เราสามารถตั้งค่าขอบเขตในการเผยแพร่ข้อมูล หรือ สิทธิ์ในการเข้าถึงได้อย่างละเอียด นอกเหนือจากการตั้งค่าว่าจะทำให้บัคเก็ต S3 แต่ละรายการเป็นแบบสาธารณะหรือส่วนตัวแล้ว ยังสามารถใช้ "IAM User" เพื่อระบุโฟลเดอร์ที่สามารถเข้าถึงของแต่ละคนใน AWS ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดค่าให้กับกลุ่มผู้ใช้แต่ละกลุ่มได้ ช่วยให้การจัดการมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ

ข้อที่ 6 : สามารถระบุ “ตำแหน่ง” สำหรับเก็บข้อมูลได้อย่างอิสระ

ด้วยความที่ AWS มีรีเจี้ยนอยู่ทั่วโลก เราจึงสามารถระบุตำแหน่งที่เราอยากเก็บข้อมูลไว้ได้อย่างอิสระ เช่น ในอาเซียนตอนนี้มีรีเจี้ยนสิงคโปร์และจาการ์ตาในประเทศอินโดนีเซีย ส่วนรีเจี้ยนกรุงเทพในประเทศไทยมีกำหนดเปิดให้บริการช่วงครึ่งปีหลังของปี 2025 (AWS Thai Region จะเปิดตัวในต้นปี 2568 ที่บรรยายโดยนายกรัฐมนตรีเศรษฐา (AWS Summit Bangkok 2024)) นอกจากนี้ยังมีรีเจี้ยนอื่นๆใน APAC เช่น ฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โตเกียวและโอซาก้าในประเทศญี่ปุ่น โซลในประเทศเกาหลีใต้ ซิดนีย์และเมลเบิร์นในประเทศออสเตรเลีย ไฮเดอราบัดและมุมไบในประเทศอินเดีย หากเราใช้ Amazon S3 เราจะสามารถเลือกรีเจี้ยนตามที่เราต้องการเพื่อเป็นที่จัดเก็บข้อมูลได้อย่างง่ายดาย

หากเป็นการจัดเตรียมพื้นที่จัดเก็บข้อมูลด้วยวิธีการ Remote บน On-Premises การเตรียม Data Center และฮาร์ดแวร์ทำได้ยาก แถมยังเป็นการบ้านให้แก่ผู้รับผิดชอบที่ต้องหาวิธีโอนย้ายข้อมูลอีกด้วย ถ้าเป็น Amazon S3 เราสามารถเลือกรีเจี้ยนตอนที่สร้างบัคเก็ต S3 หรืออัปโหลดไฟล์ได้ เพียงแค่นี้เราก็สามารถจัดเก็บข้อมูลในสถานที่ห่างไกลทางภูมิศาสตร์ได้

นอกเหนือจากกรณีที่เราต้องการจัดเก็บข้อมูลสำรองในต่างประเทศเพื่อรองรับมาตรการ DR (Disaster Recovery) เรายังสามารถใช้มาตรการต่างๆ เช่น สำหรับคอนเทนต์ที่ต้องใช้เวลาพอสมควรในการเปิด เราสามารถอัปโหลดไว้ที่รีเจี้ยนต่างประเทศที่อยู่ใกล้กับประเทศเราที่สุดเพื่อรองรับการเข้าถึงในต่างประเทศได้

Use Case การใช้งาน Amazon S3

ส่วนนี้จะเป็นการแนะนำกรณีการใช้งานทั่วไปและความสะดวกในการใช้ Amazon S3

Use Case 1 : การจัดเก็บ Log Data

การใช้งานหลักของ Amazon S3 คือ การจัดเก็บข้อมูล log จากบริการอื่นๆของ AWS มักจะถูกใช้เป็นที่จัดเก็บข้อมูล Log ต่างๆ เช่น Log Data ของ Load Balancer (ELB) CloudFront หรือ Amazon EC2 นอกจากนี้ ข้อมูลที่บันทึกไว้ใน Amazon S3 ยังใช้ร่วมกับบริการต่างๆ ของ AWS เช่น การวิเคราะห์ด้วย Amazon Athena และการแสดงภาพด้วย Amazon QuickSight

Use Case 2 : ใช้สำหรับจัดการข้อมูลแบบถาวร (Data Archive)

ในการทำธุรกิจมีข้อมูลที่ต้องรักษาไว้เป็นระยะเวลานานจำนวนมากกว่าที่เราคิด และเนื่องจากพื้นที่จำกัดบน On-Premise ยูสเซอร์จำนวนไม่น้อยที่กังวลว่าจะมีพื้นที่พอสำหรับจัดเก็บข้อมูลหรือไม่ หากเราใช้ Amazon S3 เราสามารถใช้ความจุพื้นที่จัดเก็บข้อมูลไม่จำกัด และสามารถจัดเก็บข้อมูลที่ไม่สามารถจัดเก็บไว้ใน On-Premise เป็นระยะเวลานานได้ นอกจากนี้ ราคาค่าบริการยังต่างกันตามประเภทพื้นที่จัดเก็บข้อมูลของ Amazon S3 ในกรณีที่เรามีข้อมูลที่มีความถี่ในการเรียกดูต่ำมากประมาณ 1 ครั้งทุกๆ 2-3 ปี และจะต้องสามารถดึงข้อมูลได้ภายในหนึ่งวันนับจากวันที่ขอข้อมูล เราสามารถเลือกใช้ Amazon S3 Glacier เพื่อลดค่าใช้จ่ายได้

Use Case 3 : โฮสติ้งเว็บไซต์แบบคงที่ (Static Website Hosting)

สิ่งแรกที่อยากจะยกตัวอย่างเรื่องความสะดวกในการใช้งาน แต่ขอยกเป็น Use Case ที่ 3 คือ การเผยแพร่เว็บไซต์โดยใช้ฟังก์ชันการโฮสต์เว็บไซต์แบบคงที่ ด้วยการเซฟคอนเทนต์พวก HTML ไว้ที่ Amazon S3 และเผยแพร่ด้วยบริการเผยแพร่คอนเทนต์ Amazon CloudFront เป็นการตั้งค่าพื้นฐาน นอกจากนี้ แม้ว่า Amazon S3 จะสามารถรองรับได้เฉพาะเนื้อหาแบบคงที่ แต่ก็มีบางกรณีที่เนื้อหาแบบไดนามิกถูกวางบนเซิร์ฟเวอร์บน Amazon EC2 และเนื้อหาแบบคงที่อย่างพวกรูปภาพต่างๆไว้บน Amazon S3 การจัดเก็บรูปภาพหรือไฟล์อื่นๆที่ต้องใช้ความจุปริมาณมากบน Amazon S3 ซึ่งมีต้นทุนพื้นที่จัดเก็บต่ำ และมีความทนทานและความพร้อมใช้งานสูง สามารถช่วยให้เราลดต้นทุนและสร้างสภาพแวดล้อมที่เสถียรได้

Use Case 4 : อัปโหลดไฟล์ขนาดใหญ่

Use Case สุดท้าย คือ กรณีที่อัปโหลดข้อมูลหลาย 10 ถึงหลาย 100 GB ไปยัง Amazon S3 เช่น การย้ายข้อมูลจาก On-Premise เมื่อเราอัปโหลดข้อมูลไปยัง Amazon S3 โดยใช้ API เช่น AWS CLI หรือ AWS SDK "การอัปโหลดแบบหลายส่วน" จะถูกนำไปใช้กับไฟล์ที่มีขนาดเกินกำหนดโดยอัตโนมัติ การส่งไฟล์ขนาดใหญ่ทั้งหมดในครั้งเดียวอาจทำให้แบนด์วิธแน่น และสร้างความกังวลได้ว่าจะกระทบต่อการดำเนินการอื่นๆหรือไม่ แต่การใช้การอัปโหลดแบบหลายส่วนเพื่อแบ่งข้อมูลออกเป็นชิ้นเล็กๆแล้วส่ง ทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อ network ได้ หากมีความล้มเหลวในการส่งข้อมูลบางส่วน ระบบจะอัปโหลดเฉพาะในส่วนของข้อมูลที่ไม่สำเร็จอีกครั้ง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้อง "อัปโหลดข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งหมดอีกครั้ง" ช่วยให้เราสามารถอัปโหลดข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สรุป

ข้อได้เปรียบที่สำคัญของ Amazon S3 คือการที่เราสามารถใช้พื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่มีความคงทนและความพร้อมใช้งานสูงในราคาที่ต่ำ นอกจากนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียง "การจัดเก็บข้อมูล" เท่านั้น แต่ยังมีฟังก์ชันต่างๆ เช่น การโฮสต์เว็บไซต์ ดังนั้นจึงไม่อาจมองข้ามจุดเด่นของ S3 เรื่องความสามารถในการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบได้ และ หากเราสามารถใช้งาน S3 ได้อย่างเหมาะสม จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เราได้มากยิ่งขึ้น

บทความต้นฉบับ

Amazon S3とは?どういうときに導入するのがお勧め?用語についても解説

บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับ Amazon S3

Amazon S3 คืออะไร? การแนะนำฟังก์ชันล่าสุดของ AWS
เชื่อมต่อ Amazon S3 ด้วย WinSCP
การอัปโหลดข้อมูลไปยัง Amazon S3 ด้วย CloudBerry Explorer
วิธีการสร้างเว็บไซต์แบบ Static โดยใช้ S3 + CloudFront (ใช้งาน OAC)