AWS คืออะไร? ดีกว่า On-Premise อย่างไร
สวัสดีผู้อ่านทุกท่านค่ะ กลับมาเจอกันในบทความ AWS อีกครั้งแล้วนะคะ โดยบทความในครั้งนี้จะขอพาทุกคนไปทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง On-Premise และ คลาวด์ AWS ให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นค่ะ โดยบทความนี้เป็นบทความที่แปลมาจากภาษาญี่ปุ่นในหัวข้อ AWSとは?オンプレミスとの違いと4つの導入メリット และมีการปรับเนื้อหา และภาษาบางส่วนเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ รวมถึงอาจมีบางจุดที่แตกต่างจากเนื้อหาต้นฉบับเล็กน้อยค่ะ
AWS คืออะไร?
AWS หรือ Amazon Web Services เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มคลาวด์ ดำเนินการโดย บริษัทในสหรัฐอเมริกา Amazon.com ซึ่งให้บริการ Infrastructure หลากหลายรูปแบบ เช่น Server หรือ Database ฯลฯ ไปทั่วโลก โดยบทความในครั้งนี้ แพรจะมาแนะนำถึงข้อดีของ AWS เมื่อเปรียบเทียบกับระบบ On-Premise และจะขอเล่าถึงความแตกต่างของทั้งสองให้กับผู้อ่านทุกคนได้เห็นภาพมากขึ้นค่ะ
AWS ต่างจาก On-Premise อย่างไร
On-Premise หมายถึง รูปแบบการใช้งานระบบที่บริษัทเป็นเจ้าของ และดูแลเครื่อง Server หรือ Network ด้วยตัวเอง ในการใช้งานระบบ On-Premise ผู้ใช้งานจำเป็นต้องมีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับติดตั้งเครื่องเซิร์ฟเวอร์ คำนวณกำลังไฟฟ้า จัดเตรียมระบบปรับอากาศ จัดซื้อฮาร์ดแวร์ รวมถึงเตรียมอุปกรณ์สำรองสำหรับกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องขึ้นมา
ในทางกลับกัน คลาวด์ คือวิธีการใช้เซิร์ฟเวอร์ และอุปกรณ์เครือข่าย (Network) ที่จัดเตรียม และดูแลโดยผู้ให้บริการคลาวด์ (เช่น AWS) ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ดังนั้นเราจึงสามารถใช้งานระบบได้โดยไม่จำเป็นต้องจัดซื้อฮาร์ดแวร์ หรือจัดเตรียมพื้นที่สำหรับติดตั้งทรัพยากรด้วยตนเอง โดยเนื้อหาต่อจากนี้ จะเป็นกระบวนการใช้งาน และเรื่องน่ากังวลของระบบ On-Premise รวมถึงจะอธิบายการใช้งาน AWS ว่าจะสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาน่ากังวลเหล่านั้นได้อย่างไร
ก่อนนำมาใช้งาน
กระบวนการก่อนใช้งาน On-Premise
- การเลือกอุปกรณ์ระบบต่างๆ (สเปค หรือ จำนวนเครื่อง)
- การจัดหาสถานที่ติดตั้ง และอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กำลังไฟฟ้าที่ใช้, เต้ารับสำหรับเสียบตู้เซิร์ฟเวอร์, ตู้เซิร์ฟเวอร์, ระบบการปรับอากาศ, การเดินสายไฟ ฯลฯ
- การเลือก Middleware และ Software (ระบบปฏิบัติการ (OS), Version, การตรวจสอบวันสิ้นสุดการขาย (EoS) และวันสิ้นสุดการสนับสนุน (EoL))
- การกำหนดวิธีการบำรุงรักษา และการใช้งาน
- การประมาณราคา และการจัดสรรงบประมาณ
เรื่องน่ากังวลในการใช้งานระบบ On-Premise
- ความล่าช้าในการส่งอุปกรณ์สินค้าเนื่องจากปัญหาขาดแคลน Semiconductor หรือ Chip
- การจะหาพื้นที่ติดตั้งตู้เซิร์ฟเวอร์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
- การหาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับตัวเซิร์ฟเวอร์ (ต้องมีอุณหภูมิ 27-28 องศาเซลเซียสตลอดเวลา และมีความชื้นต่ำ)
- อาจเกิดปัญหาเนื่องจากเลือกอุปกรณ์ และ Middleware ผิดพลาด
AWS เข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร
- ไม่ต้องกังวลกับปัญหาขาดแคลน Semiconductor หรือ Chip เพราะทางคลาวด์ AWS จะเป็นผู้รับผิดชอบจัดการดูแลอุปกรณ์ให้
- ไม่จำเป็นต้องเตรียมพื้นที่ติดตั้งตู้เซิร์ฟเวอร์
- ไม่ต้องเตรียมสภาพแวดล้อมภายในองค์กร
- สามารถแก้ไขการเลือกอุปกรณ์ และ Middleware ได้ทันทีหากเกิดข้อผิดพลาด
- สามารถคำนวณค่าใช้จ่ายได้ด้วย "AWS Pricing Calculator"
การเปิดใช้งาน
กระบวนการเปิดใช้งาน On-Premise
- เปิดใช้งานอุปกรณ์
- ติดตั้งอุปกรณ์ในตู้ Rack
- เดินสายไฟ
- ตั้งค่าอุปกรณ์
เรื่องน่ากังวลในการใช้งานระบบ On-Premise
- เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ละเอียดอ่อน จึงต้องดูแลด้วยความระมัดระวัง
- ใช้เวลา 1-2 วันในการเริ่มทำงานของระบบ
- ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ และการตั้งค่าระบบที่ต้องจ่ายให้กับผู้รับเหมา รวมถึงอาจใช้เวลาจัดส่งสินค้านานหลายเดือน
AWS เข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร
- ไม่ต้องลงมือติดตั้งอุปกรณ์ด้วยตัวเอง
- มีเพียงการติดตั้ง Middleware และ Software เท่านั้น โดย AWS มีบริการดูแลให้
- เพียงแค่กดปุ่มบนหน้าจอควบคุมก็สามารถเปิดใช้งานเซิร์ฟเวอร์ได้ทันที
การใช้งาน
กระบวนการใช้งาน On-Premise
- การตั้งค่าแจ้งเตือนเมื่อเกิดความผิดปกติ
- การตอบสนองต่อความผิดพลาดของระบบ
- การตรวจสอบข้อมูลบั๊กของอุปกรณ์
- การอัปเกรดเวอร์ชัน OS และอื่นๆ
- การติดต่อผู้ให้บริการด้านการบำรุงรักษา (การขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดความผิดพลาด เช่น การส่งคืนอุปกรณ์ที่ชำรุดเพื่อซ่อมแซม)
- การดูแลบำรุงรักษาเป็นประจำ
- การติดตามบริการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ (OS/วันสิ้นสุดการสนับสนุน (EoL)) เช่น การติดตามวันหมดอายุของระบบปฏิบัติการ, ซอฟต์แวร์ ฯลฯ
เรื่องน่ากังวลในการใช้งานระบบ On-Premise
- การดูแลรักษาเป็นประจำ (การตรวจสอบไฟ LED, การตรวจสอบอุณหภูมิ, การบำรุงรักษาพัดลม และแหล่งจ่ายไฟ, การตรวจสอบล็อก)
- หากบริการสนับสนุนผลิตภัณฑ์สิ้นสุดลง จำเป็นจะต้องเลือกอุปกรณ์ใหม่ทุกๆ 5 ปี
- การอัปเกรด OS มักจะเกิดความไม่แน่นอนของซอฟต์แวร์ ว่าจะทำงานได้อย่างถูกต้องหรือไม่
- อาจใช้เวลาในการบำรุงรักษาค่อนข้างนาน
- กรณีที่เกิดข้อผิดพลาด ระบบอาจหยุดทำงานเป็นเวลานาน
- ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ เช่น การเปลี่ยนอุปกรณ์สำรอง เป็นต้น
AWS เข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร
- ผู้ใช้งานดูแลเฉพาะเลเยอร์ระดับสูงกว่ามิดเดิลแวร์
- ไม่ต้องบำรุงรักษาฮาร์ดแวร์: AWS รับผิดชอบในการบำรุงรักษาฮาร์ดแวร์ทั้งหมด
- สามารถสร้างสภาพแวดล้อมแยกต่างหากเพื่อทดสอบการอัปเกรดได้อย่างรวดเร็ว
- การออกแบบที่ยืดหยุ่นช่วยลดเวลาหยุดทำงานของระบบได้เป็นอย่างมาก
ข้อดีของการใช้ AWS
AWS มีข้อดีหลักๆ อยู่ด้วยกัน 6 ข้อ (ประสิทธิภาพการใช้งานที่ยอดเยี่ยม, ความปลอดภัย, ความน่าเชื่อถือ, ความมีประสิทธิภาพ, การเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุน, ความยั่งยืน) ในบรรดาข้อดีเหล่านี้ มี 4 ข้อสำคัญ ที่ผู้เริ่มต้นใช้งาน AWS ควรรู้
ลดต้นทุน
ไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับการเริ่มใช้งาน AWS และการคิดค่าบริการของ AWS จะคิดตามปริมาณการใช้งานจริง หรือเรียกได้ว่า ใช้เท่าไหนจ่ายเท่านั้น ผู้ใช้สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้โดยการเลือกเปิดใช้งานเซิร์ฟเวอร์เฉพาะช่วงเวลาที่จำเป็น รวมถึงสามารถปิด หรือลบเซิร์ฟเวอร์เมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ก็ทำได้เช่นกัน ด้วยวิธีดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้สามารถเริ่มต้นโปรเจ็กต์ใหม่ หรือทดสอบบริการทดลองในขนาดเล็กได้ อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการถอนตัวออกจากโปรเจ็กต์ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ทาง AWS ยังคอยมอบส่วนลดการใช้บริการให้มากกว่า 100 ครั้ง นับตั้งแต่เริ่มใช้งานจนถึงปัจจุบัน โดยสิ่งนี้เรียกกันว่า "ข้อได้เปรียบจากขนาด" (Scale Advantage) โดยที่ AWS ได้ขยายการให้บริการไปทั่วโลก ทำให้ยิ่งผู้ใช้งานเยอะขึ้น ต้นทุนในการจัดหาเซิร์ฟเวอร์ และการบำรุงรักษาศูนย์ข้อมูลของ AWS ก็จะลดลงตามไปด้วยเช่นกัน และส่วนลดที่มอบให้แก่ผู้ใช้ ก็ถือเป็นนโยบายการคืนส่วนลดที่เกิดจากการลดต้นทุนของ AWS นั่นเอง
ความยืดหยุ่น
ในกรณีที่ใช้ระบบ On-Premise ผู้ใช้ต้องเตรียมเซิร์ฟเวอร์ที่มีสเปคเพียงพอที่จะแบกรับภาระงานในช่วง Peak Time ได้เอาไว้ล่วงหน้า แต่หากผ่านช่วงเวลาเร่งด่วนของระบบไปแล้ว เซิร์ฟเวอร์ก็จะถือว่ามีสเปคเกินความจำเป็น (Overspec) ทำให้เสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์
ในทางกลับกัน AWS สามารถเพิ่ม หรือลด Resource ได้ตามความต้องการของช่วงเวลานั่นๆ ได้ เช่น ในช่วง Peak time ผู้ใช้สามารถเพิ่มเซิร์ฟเวอร์อีก 2 เครื่องได้ และเมื่อผ่านช่วง Peak time ไปแล้วก็สามารถหยุดการทำงานของเซิร์ฟเวอร์ทั้ง 2 เครื่องได้ทันที การปรับเพิ่ม-ลดสเปคนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ทุกช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นททุกๆ ชั่วโมง, ทุกวัน, ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน และยังสามารถปรับแต่งได้ตามขนาด CPU ที่ใช้ และปริมาณ Traffic ที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย
ความง่ายในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
นอกจากเซิร์ฟเวอร์ และ Database แล้ว AWS ยังให้บริการอื่นๆ อีกมากกว่า 200 บริการเลยทีเดียว โดยครอบคลุมสาขาต่างๆ มากมาย ทั้ง IoT, AR, VR, AI, Machine Learning, วิทยาการหุ่นยนต์, เทคโนโลยีควอนตัม, Data Lake, ELT เป็นต้น ดังนั้น แค่การใช้บริการ AWS ก็ช่วยให้สามารถสร้างบริการต่างๆ ได้อย่างครบวงจรในที่เดียว และการใช้บริการต่างๆ บน AWS ร่วมกัน ก็จะช่วยลดต้นทุนการเรียนรู้ของผู้ใช้ ทำให้ผู้ใช้สามารถนำเวลา และทรัพยากรไปใช้กับการพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ ได้มากขึ้น
ความปลอดภัยสูง
AWS โดดเด่นในด้านความปลอดภัยด้วยฟังก์ชัน MFA (การยืนยันตัวตนแบบสองปัจจัย) สำหรับบัญชี AWS, การกำหนดสิทธิ์เข้าถึง (Role) ข้อมูลสำหรับผู้ใช้แต่ละคน, และบันทึกประวัติการดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ ทำให้บัญชีมีความปลอดภัยที่สูงมากๆ เลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น ในแต่ละบริการยังมีฟังก์ชันการเข้ารหัส และการดูแลจัดเก็บข้อมูลที่สามารถเปิดใช้งานได้ในคลิกเดียว นอกจากนี้ยังสามารถเลือกวิธีจัดเก็บไฟล์สำคัญได้อย่างยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บโดย AWS หรือโดยผู้ใช้เอง และการเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ยังสามารถควบคุมได้ด้วยการตั้งค่า IP, การจำกัดพอร์ต และไฟร์วอลล์ได้อีกด้วย
แม้ว่าคลาวด์จะเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ต แต่การใช้ AWS Direct Connect หรือการเชื่อมต่อ VPN ก็สามารถสร้างการเชื่อมต่อที่ปลอดภัยได้ ซึ่ง AWS ปฏิบัติตามนโยบายความปลอดภัยที่เข้มงวดขององค์กร และสามารถใช้บริการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลได้ด้วยเช่นกัน
สิ่งที่ควรรู้ และข้อควรระวัง
การใช้งาน AWS มีประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานด้านเทคโนโลยี แต่ก็มีสิ่งที่ผู้ใช้ควรระวังอยู่เหมือนกันค่ะ เพราะว่า AWS เป็นบริการที่กำลังเติบโต ทำให้อาจมีการอัปเดตในทุกๆ สัปดาห์ เช่น ในสัปดาห์ที่แล้วยังไม่มีการสนับสนุนมิดเดิลแวร์ แต่ตอนนี้สามารถใช้งานได้แล้ว หรือ AWS สามารถส่งอีเมลได้แล้ว หรือแม้แต่ฟังก์ชันการตรวจสอบต่างๆ ก็ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น อยู่เรื่อยๆ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า AWS กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ใช้จึงควรติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้ระบบของบริษัททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ตามที่เคยกล่าวมาก่อนหน้านี้แล้วว่า AWS จะคิดค่าบริการตามการใช้งานจริง ดังนั้นหากลืมปิดเซิร์ฟเวอร์ที่เปิดไว้เพื่อทดลองใช้งาน ค่าใช้จ่ายก็ยังจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ทำให้อาจต้องจ่ายค่าบริการโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะฉะนั้น หากไม่ได้ใช้งานแล้ว แนะนำให้ตรวจสอบให้ดีว่าได้ทำการตั้งค่าปิดการทำงานแล้วหรือยัง
ยิ่งไปกว่านั้น หากบัญชี AWS และรหัสผ่านรั่วไหล อีกทั้งผู้ใช้ไม่ได้ทำการตั้งค่าการยืนยันตัวตนแบบสองปัจจัยไว้ (MFA) บัญชีอาจถูกบุกรุกเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ จากการเปิดเซิร์ฟเวอร์ของผู้ใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจนทำให้เกิดค่าใช้จ่ายบานปลายได้ ดังนั้นผู้ใช้งานก็ต้องทำการตั้งค่าด้วยตัวเองด้วยเช่นกัน
วิธีกำหนดการตั้งค่าที่เหมาะสม และการติดตามเทคโนโลยี
อยากจะใช้งาน AWS แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเลือกใช้บริการไหน และต้องใช้อย่างไรดี อีกทั้ง AWS กำลังเติบโตเรื่อยๆ รวมถึงมีการอัปเดตอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ไม่รู้จะติดตามข้อมูลจากไหน ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะเนื้อหาต่อไปจะขอแนะนำวิธีการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และวิธีการติดตามเทคโนโลยี AWS ให้กับผู้อ่านทุกท่านค่ะ
สำหรับการกำหนดค่าต่างๆ แนะนำให้ดูคู่มือ และเอกสารจากทางการ เนื่องจากมีข้อมูลครบถ้วนมากที่สุด โดยเว็บไซต์ AWS มีให้บริการในหลายๆ ภาษา รวมถึงภาษาไทยด้วยเช่นกัน และแนะนำให้ติดตามข่าวสารของ AWS เป็นประจำ เพราะมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ บทความที่เขียนโดยวิศวกรบนอินเทอร์เน็ตก็เป็นประโยชน์เช่นกัน และทาง Classmethod ของเราก็มีการอัปเดตเทคโนโลยีคลาวด์ AWS อยู่เรื่อยๆ เช่นกัน หากใครอยากหาบทความ AWS อ่านเพิ่มเติม สามารถเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ Devloper IO ได้เลยนะคะ
ความปลอดภัย
สุดท้ายนี้ เพื่อให้รู้จักกับ AWS มากขึ้น จะขออธิบายเกี่ยวกับ “โมเดลความรับผิดชอบร่วมกัน” ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดที่ควรรู้ก่อนเริ่มใช้งาน AWS โดย AWS มีการแบ่งแยกความรับผิดชอบด้านความปลอดภัยที่ชัดเจน ระหว่าง AWS กับผู้ใช้งาน
AWS มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบด้าน Hardware, Software, Networking และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้ในการให้บริการคลาวด์ AWS รวมถึงรับผิดชอบต่อความล้มเหลาของ Hardware หรือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต และจัดการดูแลศูนย์ข้อมูล (เช่น การควบคุมการเข้าถึง และการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ) ด้วยเช่นกัน
ในด้านผู้ใช้งาน ผู้ใช้งานจะต้องดูแลรับผิดชอบในส่วนของ Guest Operating System (การอัปเดต หรือ Security Patch) และ Software application ที่ผู้ใช้ได้ทำการติดตั้งเอง รวมถึงต้องดูแลการตั้งต่า Firewall ที่ทาง AWS จัดหาให้
ผู้ใช้งานจะต้องเป็นคนรับผิดชอบในส่วนของคีย์ไฟล์เองด้วยเช่นกัน หากไฟล์หายไปทาง AWS จะไม่สามารถเข้าไปช่วยกู้ข้อมูลในส่วนนี้ได้ เนื่องจากไม่มีการสำรองข้อมูลเอาไว้นั่นเอง ดังนั้นหากข้อมูลบัญชี AWS หรือรหัสผ่านรั่วไหล ทางผู้ใช้งานจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนนี้
สรุป
บทความในครั้งนี้ เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นข้อแตกต่างระหว่าง AWS และ On-Premise รวมถึงแสดงให้เห็นถึงข้อดีของการใช้งาน AWS แต่ถึงแม้ว่าการใช้งานจะสามารถปรับ-ลดเซิร์ฟเวอร์ได้ง่ายๆ แถมมีค่าใช้จ่ายต่ำ ก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึง ที่เกิดจากการตั้งค่าที่ไม่เหมาะสมของผู้ใช้งานได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตรวจสอบโมเดลความรับผิดชอบร่วมกัน และผู้ใช้จะต้องทำการตั้งค่าในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบอย่างเหมาะสมจะดีที่สุด
สำหรับใครที่ "อยากใช้ AWS อย่างปลอดภัย แต่ไม่รู้ว่าจะตั้งค่าอย่างไรดี" เวลาแบบนี้ Classmethod (AWS Premier Service Partner) สามารถช่วยคุณได้! หากมาเป็น “Classmethod Member” ผู้ใช้งานจะได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้าน AWS ทันที!
ใช้ AWS อย่างมั่นใจ และปลอดภัย
Classmethod Members เป็นบริการที่ให้การสนับสนุนแบบครบวงจรสำหรับการใช้งาน AWS ไม่ว่าจะเป็นการเป็นตัวแทนเรียกเก็บค่าบริการ AWS และการสนับสนุนด้านเทคนิค
Classmethod Members มีบริการ "Secure Account Issuance Service" ซึ่งจะเข้ามาช่วยตั้งค่าเบื้องต้นสำหรับการใช้บริการความปลอดภัยของ AWS ผ่าน Secure Account ซึ่งเป็นบัญชีที่ตั้งค่าให้ใช้บริการความปลอดภัยของ AWS ได้อย่างเต็มที่ตามโมเดลความรับผิดชอบร่วมกัน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยตั้งค่าความปลอดภัยให้กับบัญชีนั่นเอง
หวังว่าบทความในครั้งนี้ จะทำให้ผู้อ่านทุกคนเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง On-Premise และ AWS กันมากขึ้นนะคะ และหากใครที่ตัดสินใจเลือกใช้ AWS แล้ว และอยากทำความเข้าใจบริการต่างๆ ก่อนเริ่มใช้งาน ก็สามารถอ่านบทความ Service ควรรู้ก่อนเริ่มใช้งาน AWS เพื่อเตรียมตัวก่อนเริ่มใช้ได้นะคะ แล้วเจอกันใหม่บทความหน้าค่ะ