AWS 101 ฉบับเรียนด้วยตัวเอง : AWS คืออะไร

AWS หรือ Amazon Web Services คือ cloud computing service ให้เช่าเครื่องมือต่าง ๆ เช่น เซิร์ฟเวอร์ เน็ตเวิร์ก ฯลฯ เพื่อไปใช้ทำงานประมวลผล เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น Machine Learning และอื่นๆ มีข้อดีคือให้เช่าเครื่องมือหลากหลาย ครบครัน และintegrateเข้าด้วยกันได้ง่าย ปรับสเกลการใช้งานง่าย ช่วยลดค่าใช้

この記事は公開されてから1年以上経過しています。情報が古い可能性がありますので、ご注意ください。

สวัสดีค่ะทุกคน ช่วงนี้จิ๋วกำลังหาความรู้เรื่อง AWS อยู่ค่ะ มีทั้งอ่านมาจากหนังสือต่างประเทศ และหาความรู้จากในเว็บไซต์ต่าง ๆ อีกมากมาย ในฐานะคนที่ไม่เคยคลุกคลีกับงานทางด้านไอทีอย่างจิ๋วเลยคิดว่า ถ้าได้เขียนบล็อกรีวิวการหาข้อมูล หรือสรุปย่อความรู้เกี่ยวกับ AWS ง่าย ๆ ให้ทุกคนได้อ่าน น่าจะมีประโยชน์ไม่น้อยค่ะ เลยทำบล็อกซีรีส์ที่ชื่อว่า "AWS 101 ฉบับเรียนด้วยตัวเอง" ซึ่งซีรีส์นี้จิ๋วตั้งใจจะเขียนเล่าจากมุมมองของคนที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับ AWS และไม่ค่อยมีความรู้เรื่องไอทีด้านอื่น ๆ เลย และบล็อกในวันนี้จิ๋วจะขอสรุปเล่าความเข้าใจของจิ๋วเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานของ AWS ว่า AWS คืออะไร ดียังไง เพื่อให้คนที่ไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อ AWS เลยเข้าใจมากขึ้นค่ะ

AWS คืออะไร

AWS หรือชื่อเต็ม ๆ คือ Amazon Web Services ก็คือ cloud computing service หรือ บริการประมวลผลบนระบบคลาวด์ อ๊ะ ๆ อย่าพึ่งงง ภาษาไทยแบบเข้าใจง่ายก็คือ บริการให้เช่าเครื่องมือต่าง ๆ เช่น เซิร์ฟเวอร์ เน็ตเวิร์ก ฯลฯ บนระบบคลาวด์ (แปลว่า = ทุกอย่างถูกนำไปเก็บและใช้งานผ่านอินเตอร์เน็ต) เพื่อใช้ในงานประมวลผลใด ๆ เช่น งานเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่นบนมือถือ เรื่อยไปจนถึง Machine Learning หรือ robot เอาเป็นว่าแทบไม่มีอะไรที่ AWS ให้คุณเช่าไม่ได้ ดังนั้น ขอแค่คุณมีอินเตอร์เน็ตก็จะสามารถเช่าคลาวด์และเริ่มต้นใช้ AWS เมื่อไหร่ก็ได้เลยค่ะ

สรุปง่าย ๆ Amazon Web Services (AWS) ก็คือบริการให้เช่าเครื่องมือต่าง ๆ เช่น เซิร์ฟเวอร์ เน็ตเวิร์ก ฯลฯ เพื่อไปใช้ทำงานประมวลผลด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น Machine Learning ฯลฯ ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ดังนั้นแค่มีอินเตอร์เน็ต คุณก็สามารถใช้งาน AWS ได้ทันที

ย้อนความไปก่อนจะมาเป็นบริการ AWS ในปัจจุบัน Amazon.com ซึ่งเป็นชื่อที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่แล้ว เพราะเป็นเว็บไซต์ขายของออนไลน์ชื่อดังระดับโลก ได้นำความรู้ Knowhow ของตัวเองที่สั่งสมมาจากการดูแลแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขนาดยักษ์ที่ยุ่งยากและซับซ้อนนี้ มาใช้ประโยชน์และสร้างเป็นบริการ AWS จากนั้นก็พัฒนา AWS อยู่เรื่อย ๆ จนตอนนี้เครื่องมือที่ AWS เตรียมไว้ให้บริการนั้นมีหลากหลายสาขามาก

จุดเด่นของ AWS

ให้เช่าทุกอย่างที่คุณต้องใช้ในการสร้างระบบครบ จบในที่เดียว

อย่างที่เกริ่นไปเมื่อสักครู่ AWS มีบริการให้เราเช่าเครื่องมือกว่า 165 อย่างในหลากหลายสาขามาก เช่น computing, storage, database, analysis, network, mobile, IoT, security, enterprise application และอีกมากมาย โดยเราสามารถนำบริการเหล่านี้มาประกอบรวมกัน และสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างหลากหลาย ถ้าเป็นงานเว็บไซต์ หรืองานสร้างระบบต่าง ๆ AWS จัดเตรียม infrastructure และ ซอฟต์แวร์ที่จำเป็นไว้ให้ค่อนข้างครบถ้วน รวมถึงมี system เตรียมไว้ให้อยู่แล้ว ถ้าเป็นระบบขนาดเล็ก แม้จะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็สามารถจัดการได้ด้วยตัวเองค่ะ


↑ ตัวอย่างกลุ่มของผลิตภัณฑ์ของ AWS สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมในลิงก์ได้นะคะ ↑

integrate บริการต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้ง่าย

AWS มีจุดแข็งที่การให้บริการเครื่องมือที่หลากหลาย และการนำเครื่องมือเหล่านั้นมาประกอบรวมกัน หรือ การ integrate เพื่อใช้งานด้วยกันก็ทำได้ง่าย และยังมีการพัฒนาเรื่องการ integrate บริการต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี ส่วนการ integrate เข้ากับระบบอื่นก็มีเคสตัวอย่างให้ศึกษาค่อนข้างเยอะ เช่น เชื่อมต่อ LAN ภายในบริษัทกับ AWS หรือ ใช้บริการ AWS เป็น infrastructure เฉพาะบางส่วน เช่นใช้เฉพาะส่วนของเซิร์ฟเวอร์

จ่ายเท่าที่ใช้

โดยพื้นฐานแล้วบริการของ AWS จะคิดค่าบริการแบบ pay-as-you-go ดังนั้นเวลาที่เราปิดระบบ หรือไม่ได้ใช้งานบริการ ก็จะไม่ต้องเสียเงิน ช่วยลดค่าใช้จ่ายขององค์กรได้มาก เพราะไม่จำเป็นจะต้องคิดเผื่อปริมาณมากที่สุดที่จะต้องใช้งานและจ่ายเงินซื้อบริการแบบ fix หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้งานในปริมาณมากขึ้นหรือน้อยลงก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันที แค่ลองนึกภาพตามว่าถ้าเราเป็นบริษัทที่เปิดทำการและใช้งานการประมวลผลเฉพาะวันจันทร์ – ศุกร์ ในชั่วโมงทำการ 8 ชม. ถ้าไม่ใช้งานคลาวด์เราต้องเสียเงิน 24 ชั่วโมง 7 วัน รวมเป็น 168 ชั่วโมง แต่บริการ AWS ทำให้เราจ่ายตามการใช้งานจริงคือ 40 ชั่วโมง

ระบบความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน

ระบบความปลอดภัยของ AWS ผ่านการรับรองความปลอดภัยของแต่ละประเทศและในระดับสากล เช่น FISC และ FINTECH ของประเทศญี่ปุ่น และ global compliance อื่นๆ ถ้าอยากรู้ว่า AWS ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบใดและระดับใดบ้าง สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่ลิงก์นี้นี้ค่ะ



↑ ตัวอย่าง global compliance ของ AWS ↑

ขยับขยายเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ปรับสเกลตามขนาดองค์กร

นอกจากเรื่องความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนขนาด ทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงในระดับนาที ในแง่ของการขยับขยายในระดับองค์กร เมื่อต้องการทำให้ระบบมีความ global มากขึ้นก็สามารถปรับได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะ AWS มี region หรือ ภูมิภาคที่ให้บริการ (เนื่องจากภูมิภาคเหล่านี้ไม่ได้แบ่งตามหลักภูมิศาตร์ จิ๋วขอเรียกรีเจี้ยนเพื่อความเข้าใจง่ายนะคะ) มากถึง 66 รีเจี้ยน และในแต่ละรีเจี้ยนก็จะมีโซนให้บริการย่อย ๆ ลงไปอีก หากต้องการขยับขยายให้ผู้ใช้งานจากพื้นที่อื่น ๆ ที่ห่างไกล เข้าใช้งานได้รวดเร็วขึ้น ก็เพียงแค่เริ่มใช้บริการ AWS ในรีเจี้ยนอื่น ๆ เพิ่ม หากอยากรู้ว่ามีรีเจี้ยนอะไรบ้าง สามารถเข้าลิงก์นี้เพื่อไปเช็คกับทางเว็บไซต์ AWS ได้เลยค่ะ


↑ แผนที่ Region ของ AWS จากคลิปแนะนำ ↑

สรุป

นี่ก็เป็นข้อมูลทั้งหมดที่จิ๋วได้ศึกษามานะคะ โดยส่วนตัวจิ่วคิดว่า AWS น่าจะเป็นคลาวด์ที่เราสามารถประกอบรวม ปรับแต่ง ตั้งค่า และทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้ ข้อดีหลัก ๆ ก็คงเป็นเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายและความยืดหยุ่นในการปรับแต่ง เหนือสิ่งอื่นใดเลย ตอนนี้จิ๋วเองก็กำลังศึกษาหลาย ๆ อย่างอยู่ และเข้าใจความยากลำบากในการศึกษา AWS ดีเลยว่ามันมึนงงขนาดไหน เพราะฉะนั้นถ้าบล็อกนี้ของจิ๋วจะมีประโยชน์กับคนหัวอกเดียวกันที่กำลังศึกษา AWS อยู่ก็จะดีใจมากเลยค่ะ สำหรับใครที่อยากพูดคุยหรือคอมเมนท์บล็อกก็มาคุยกันได้ที่เพจของคลาสเมธอดได้ค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง

หนังสือ 図解即戦力Amazon Web Servicesのしくみと技術がこれで1冊でしっかりわかる教科書
aws.amazon.com, [โครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง]
aws.amazon.com, [เอกสารประกอบจากงาน AWSome Day Online Conference]
aws.amazon.com, [โปรแกรมการปฏิบัติตามข้อกำหนดของ AWS]
aws.amazon.com, [การประมวลผลบนระบบคลาวด์คืออะไร]
dropbox.com, [Cloud คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร]
beyourcyber.com, [AWS Amazon คืออะไร คือ Infrastructure ที่ง่ายแค่คลิก]