คลาวด์คืออะไร เปรียบเทียบความแตกต่าง On-premise และ Cloud AWS

この記事は公開されてから1年以上経過しています。情報が古い可能性がありますので、ご注意ください。

คลาวด์คืออะไร เปรียบเทียบความแตกต่าง On-premise และ Cloud AWS

ได้ยินคำว่า "Cloud" มาก็หลายหน แต่สุดท้ายก็งง ๆ อยู่ดีว่า คลาวด์คืออะไร ระบบแบบไหนที่ควรใช้งานคลาวด์ ระบบแบบไหนที่ควร Say No! วันนี้จิ๋วจะมาสรุปเนื้อหาที่ได้ไปศึกษามาลงในบล็อกนี้ค่ะ

Cloud คืออะไร?

จริง ๆ แล้วถ้าเราพูดแค่ "Cloud" อย่างเดียว จะเป็นการพูดถึงในเชิงพื้นที่ คือสถานที่จัดวาง (Host) สิ่งเหล่านั้นมันอยู่ที่ไหนสักที่ และเราเข้าใช้งานผ่านทางอินเทอร์เน็ต

Keyword ที่สำคัญเลยก็คือ
✓ ไม่ต้องจัดเตรียมสถานที่ หรือ วัสดุอุปกรณ์
เช่น ห้องเซิร์ฟเวอร์สำหรับประมวลผล หรือ ฮาร์ดดิสก์ (Harddisk) สำหรับเก็บข้อมูล
✓ ใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต


แต่ในหลายครั้งที่เราพูดถึง "Cloud" ในฐานะคำย่อของ "Cloud computing" หรือแปลไทยคือ "การประมวลผล(บน)ระบบคลาวด์"


Cloud Computing หมายถึง การให้บริการเช่าใช้งาน เช่น infrastructure (disk, storage ฯลฯ) หรือ software ผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดยที่ไม่ต้องซื้อฮาร์ดแวร์หรือติดตั้งซอฟต์แวร์เหล่านั้นเลย เพราะทุกอย่างนั้นมันไปทำงานหรือประมวลผลอยู่บนคลาวด์ สามารถเลือกใช้งานเฉพาะที่ต้องการ และส่วนใหญ่คลาวด์จะคิดค่าบริการตามปริมาณการใช้งานนั้น ๆ

การใช้งาน Cloud ตามลักษณะการ Deploy

เมื่อต้อง Deploy หรือ นำระบบของเราไปใช้จริง จะเกิดคำถามว่าจะใช้ infrastructure แบบไหน จะทำบนศูนย์ข้อมูลส่วนตัวของเราเอง (On-premise) หรือบนคลาวด์

บริษัทต้องพิจารณาหลากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องแอปพลิเคชันที่ใช้ เครื่องมือจัดการทรัพยาการที่มี หรือความต้องการด้านโครงสร้าง IT ตามที่กฎหมายหรือองค์กรกำหนด

ดังนั้นในวันนี้จึงอยากคุยเรื่องของลักษณะการ Deploy เพื่อให้ทุกคนเข้าใจคอนเซปต์ว่า เรามีทางเลือกในการใช้งานคลาวด์อย่างไรได้บ้าง ระบบทุกอย่างที่เรามีตอนนี้ควรใช้งานในรูปแบบคลาวด์ไหม?

cloud computing deployment model มี 3 รูปแบบ คือ cloud-based, on-premise, hybrid

cloud-based deployment

คือการใช้งานแอปพลิเคชันทุกอย่างให้อยู่บนคลาวด์อย่างเต็มรูปแบบ

• Run แอปพลิเคชันทุกอย่างบนคลาวด์
• จะต้องถ่ายโอน(Migrate) แอปพลิเคชันที่มีอยู่ไปไว้ที่คลาวด์
• ออกแบบและสร้างแอปพลิเคชันใหม่ ๆ บนคลาวด์

สามารถที่จะสร้างแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้ตั้งแต่บน low-level infrastructure หรือการใช้งานคลาวด์ Infrastructure บนคลาวด์ หรือ IaaS ที่จะต้องให้มีเจ้าหน้าที่คอยบริหารจัดการ ไปจนถึงการสร้างแอปพลิเคชันเหล่านั้นด้วยบริการแบบ higher-level (higher-level service) เช่น Platform (PaaS) หรือ Software (SaaS) บนคลาวด์ ที่ช่วยลดงานบริหารจัดการด้วยตนเองลง ยิ่งบริการ public cloud ที่มีชื่อเสียง ก็ยิ่งมีเครื่องมือคลาวด์ให้เลือกใช้งานเยอะ ทำงานได้ง่ายและหลากหลายมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทของคุณต้องการที่จะสร้างแอปพลิเคชันที่มีเซิร์ฟเวอร์เสมือน (virtual server) ฐานข้อมูล (database) เครือข่าย (networking component) คุณสามารถที่จะเช่าใช้บริการคลาวด์ทั้งหมดนั้นเพื่อสร้างแอปพลิเคชันที่คุณต้องการ แล้วคุณก็จะได้แอปพลิเคชันที่โครงสร้างทั้งหมดนี้ให้บริการในรูปแบบคลาวด์

On-premise deployment

เป็นการซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลภายในองค์กรเอง มีการจัดเตรียมห้องสำหรับเก็บเครื่องเซิร์ฟเวอร์เหล่านั้น และมีการตรวจสอบและดูแลด้วยตัวเอง

• Deploy ทรัพยากรทุกอย่างโดยใช้ virtualization technology (= การจำลองสภาพแวดล้อม) และเครื่องมือบริหารจัดการทรัพยากร (resource management tool)

ตัวอย่างเช่น คุณมีงานที่กฎหมายกำหนดให้เก็บข้อมูลไว้ภายในประเทศ หรือภายในบริษัทเท่านั้น จึงใช้แอปพลิเคชันที่เก็บไว้ในศูนย์ข้อมูลภายในองค์กร (on-premise data center) ของคุณเอง วิธีการใช้งานแบบนี้อาจไม่ยืดหยุ่นและเปลืองทรัพยากรด้านการบำรุงรักษา รวมไปถึงข้อจำกัดอื่น ๆ แต่ก็ยังมีข้อดีที่อาจเหมาะกับการใช้งานในบางลักษณะอยู่

Hybrid Deployment

เป็นการใช้งานแบบผสมเพื่อดึงข้อดีของการใช้งานทั้ง 2 รูปแบบออกมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

• เชื่อมต่อระหว่างทรัพยากรบนคลาวด์ (cloud-based resources) กับโครงสร้างอื่น ๆ ใน on-premise
• ผนวกรวม (Integrate) เครื่องมือต่าง ๆ บนคลาวด์ เข้ากับแอปพลิเคชันไอทีที่มีอยู่

ในการปรับใช้แบบไฮบริด ทรัพยากรบนคลาวด์จะเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานภายในองค์กร คุณอาจต้องการใช้วิธีนี้ในหลายสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น คุณมีแอปพลิเคชันรุ่นเก่าที่ได้รับการดูแลที่ดีกว่าเมื่อใช้งานศูนย์ข้อมูลในองค์กร หรือข้อบังคับของรัฐบาลกำหนดให้ธุรกิจของคุณต้องเก็บบันทึกบางอย่างไว้ในสถานที่ส่วนตัว

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าบริษัทต้องการใช้บริการคลาวด์ที่สามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลแบบกลุ่ม (batch data) โดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแอปพลิเคชันรุ่นเก่าหลายตัวที่เหมาะสมกับจะใช้งานแบบ on-premise มากกว่า แอปพลิเคชันในส่วนนี้จะไม่ถูกโยกย้าย (migrate) ไปยังคลาวด์ และปรับการวางโครงสร้างระบบให้เป็นแบบไฮบริดค่ะ ด้วยวิธีการนี้บริษัทจะสามารถเก็บแอปพลิเคชันรุ่นเก่าไว้ในองค์กรได้ ในขณะที่ยังได้รับประโยชน์จากการใช้งานเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลบนคลาวด์อยู่

ภาพตัวอย่างการ deploy

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ลองมาดูภาพการ deploy file server ทั้ง 3 รูปแบบกันดีกว่าค่ะ

File server บน On-premise ศูนย์ข้อมูลอยู่ที่บริษัทหรือโรงงาน เมื่อเกิดปัญหา เช่นไฟไหม้ น้ำท่วม มีความเสี่ยงต่อข้อมูลสูง

File server บน Cloud ที่ใช้ VPN เพื่อเชื่อมต่อไปยังคลาวด์ และสร้าง File server บนคลาวด์ และใช้งานผ่านทางอินเตอร์เน็ต ดังนั้นข้อเสียเช่น เมื่ออินเตอร์เน็ตใช้งานไม่ได้ ก็ไม่สามารถเข้าถึง File server ได้เช่นกัน

File server แบบ Hybrid ที่สร้าง File server บน On-premise และ Backup หรือสำรองข้อมูลเก็บไว้บนคลาวด์ อาจจะตอบโจทย์สำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาอินเตอร์เน็ตหลุดบ่อย และต้องการประหยัดงบประมาณการสำรองข้อมูล

สรุป

การใช้งานคลาวด์มีประโยชน์หลายอย่างมาก แต่อาจไม่ใช่งานทุกโปรเจกต์ที่ควรใช้งานแบบคลาวด์ การศึกษาและวิเคราะห์การวางโครงสร้างการใช้งานระบบจะช่วยให้เราเข้าใจว่าควรจะตัดสินใจนำโปรเจกต์ของเราขึ้นไปใช้งานบนคลาวด์หรือไม่ และจะวางโครงสร้างแบบใดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหากอยากปรึกษาเรื่องการวางโครงสร้างระบบให้ใช้งานได้เกิดประโยชน์สูงสุด ปรึกษาคลาสเมธอดได้นะคะ?

Talk

สวัสดีค่ะทุกคน ห่างหายกันไปนานมาก บล็อกล่าสุดที่เขียนคือเดือนมีนาคม อยากจะร้องโอ้โหเลยทีเดียว ช่วงนี้คลาสเมธอดไทยเรามีงานสัมมนาบ่อยมาก จิ๋วเลยได้มีโอกาสศึกษาข้อมูล AWS เยอะขึ้น แต่ก็ไม่ว่างมาเขียนบล็อกแชร์ความรู้ให้ทุกคนสักที ปี 2022 นี้จะพยายามเขียนบล็อกให้มากขึ้นนะคะ

อย่าลืมติดตามบล็อกของคลาสเมธอดเรื่อย ๆ นะคะ กด bookmark หน้าเว็บไซต์ บล็อกภาษาไทยของคลาสเมธอด เตรียมไว้ได้เลย จะได้อ่านความรู้ฟรี ๆ กันแบบ จุก ๆ

จิ๋วพยายามเขียนคำไทยและวงเล็บคำภาษาอังกฤษไว้เผื่อเพื่อน ๆ ท่านไหนสนใจหาข้อมูลต่อจะได้รู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษไปด้วย อ่านแล้วไม่เข้าใจหรือมีคอมเมนต์ยังไง ไปพูดคุยกันได้ที่เพจเฟสบุ๊คของคลาสเมธอด ได้นะคะ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Dropbox : Cloud คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร
AWS : Types of Cloud Computing
クラウドとは