Local zones คืออะไร? สิ่งที่ควรรู้ไว้ก่อนจะมี Local zones ในประเทศไทย!
AWS Local Zones ที่เมืองไทยเปิดให้ใช้งานเรียบร้อยแล้ว ↓ (Updated 2022.12.21)
หลายคนอาจเคยประสบปัญหาอยากใช้งาน AWS แต่ไม่มี regions ที่อยู่ใกล้ทำให้กังวลเรื่องการโหลดข้อมูลล่าช้า หรือบางคนอาจกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลที่ต้องไปเก็บไว้ที่ regions อื่น ตัว Local zones นี้จะเข้ามาช่วยลดปัญหานั้นลงได้ วันนี้แนนจะมาแนะนำให้รู้จักว่า Local zones คืออะไร มีข้อดีที่รองรับเรื่อง PDPA อย่างไร และมีอยู่ที่ไหนบ้างในปัจจุบัน
ก่อนที่จะแนะนำให้รู้จักกับ Local zones ก็ขอมาทบทวนความจำกันซักเล็กน้อยเกี่ยวกับภูมิภาคและศูนย์ข้อมูลของ AWS กันค่ะ
Region, AZ, Edge location คืออะไร?
ก่อนหน้านี้เคยมีบล็อกที่อธิบายเกี่ยวกับ Region, Availability zone และ Edge location ไว้แล้ว สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่เลย อ้างอิงจากเนื้อหาในบล็อกนี้ แนนก็จะขอมาสรุปให้ทุกคนอีกรอบนะคะ
Region คือภูมิภาคที่ AWS กำหนดขึ้น สำหรับเป็นจุดวางศูนย์ข้อมูล ปัจจุบันมีทั้งหมด 26 regions ใกล้กับไทยที่สุดคือสิงคโปร์
ในทุกๆ Region จะมีศูนย์ข้อมูล (Data centers) หรือที่เรียกว่า Availability zones (AZ) โดยใน 1 Region จะมี Availability zones อย่างน้อย 3 โซนหรือมากกว่านั้น อีกทั้งใน 1 โซนก็จะมีอีกหลายศูนย์ข้อมูล (clusters of data center) ทุกโซนเชื่อมต่อกันแบบ เวลาแฝงต่ำ (Low Latency) ทำให้การรับส่งข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว หากโซนใดโซนหนึ่งเกิดความเสียหาย โซนที่เหลือก็ยังสามารถใช้งานได้โดยปกติโดยไม่กระทบใด ๆ ต่อระบบ
Edge Location ศูนย์เซิร์ฟเวอร์ของ AWS ใช้สำหรับการรับส่งข้อมูล ติดตั้งกระจายอยู่ทั่วโลก ประเทศไทยเราเองก็มีด้วยค่ะ โดย Edge Location นี้จะเชื่อมต่อไปยัง region และ Availability zones ด้วย เกิดเป็นระบบเครือข่าย AWS Global Network
แล้ว Local zone คืออะไร?
Local zones หรือเราอาจจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆว่าเป็นโซน AWS ในพื้นที่ระดับเมือง
AWS ตั้ง Local zones ขึ้นมาเพิ่มในเมืองที่มีประชากรจำนวนมาก เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหรือศูนย์ไอที เพื่อให้ใกล้กับผู้ใช้งานปลายทาง (end-users) มากยิ่งขึ้น และนำโครงสร้างบริการพื้นฐานของ AWS ที่จำเป็น อย่างเช่นบริการการประมวลผล (compute) และการจัดเก็บข้อมูล (storage) มาให้บริการ เพื่อให้สามารถรับส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็วขึ้นนั้นเอง
ซึ่งด้วย Local zones นี้จะช่วยให้เราสามารถสร้างหรือเรียกใช้แอปพลิเคชันที่จำเป็นต้องใช้เวลาแฝงต่ำ (low latency) ในหลักมิลลิวินาทีให้กับผู้ใช้ปลายทางได้ เช่นการแสดงผลวิดีโอที่มีกราฟฟิคจำนวนมาก การเล่นเกมแบบเรียลไทม์ การสตรีมถ่ายทอดสด ไปจนถึง Augmented reality(AR) และ virtual reality (VR)
network latency หรือเวลาแฝงของเครือข่าย คือการคำนวณระยะเวลาที่ใช้ในการรับส่งสัญญาณ เช่นการป้อนคำสั่งและการรอการตอบสนองที่จะถูกส่งกลับมา ยิ่งความแฝงต่ำ (low latency) เท่ากับว่าการรับส่งข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ local zones ยังเข้ามาช่วยซัพพอร์ตการเก็บข้อมูลไว้ในประเทศ (Data localization) ทำให้เราไม่ต้องไป host ข้อมูลไว้ที่อื่น ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับโปรเจคงานหรือระบบต่างๆที่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลส่วนบุคคลได้ค่ะ
Local zones VS. Availability zones
・ขนาดของศูนย์ข้อมูล
Local zones ถูกออกแบบมาเพื่อให้บริการพื้นฐานหลักๆของ AWS เปรียบเสมือน Availability zones ที่มีขนาดย่อมกว่า
・ความครบครันของเครื่องมือที่ให้บริการ
โดยปกติแล้วใน AZ จะให้บริการเครื่องมือ AWS อย่างเต็มรูปแบบ และเราสามารถเลือกใช้ได้ทั้งหมด แต่สำหรับ Local zone จะมีเครื่องมือ instance ให้เลือกใช้ได้น้อยกว่า ที่สามารถใช้ได้อย่างเช่น EC2, EBS, VPC, RDS เป็นต้น
Local Zones VS. Edge location
ข้อแตกต่างสำคัญเลยคือฟังก์ชันการทำงานที่แตกต่างกัน สำหรับตัว Local zones มีไว้เพื่อสร้างและใช้งาน instance ในขณะที่ Edge location จะมีไว้เพื่อรับ-ส่งข้อมูลเป็นหลัก
เพราะ Edge location เป็นเหมือนศูนย์เซิร์ฟเวอร์สำหรับรองรับ edge computing, การทำ cache และการเชื่อมต่อระหว่าง AWS global network เพื่อซัพพอร์ตการส่งข้อมูลให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังใช้ได้แค่เฉพาะกับบริการบางตัวของ AWS เช่น CloudFront หรือ Route53 เท่านั้น แตกต่างกับ local zones ที่สามารถสร้างและใช้งาน instance ในพื้นที่ให้บริการได้เลย
Local zones ในประเทศไทย
ในปัจจุบันมี Local zones อยู่ 17 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา และในปี 2565 นี้ทาง AWS มีแผนที่จะจัดตั้ง Local zones เพิ่มอีก 32 แห่ง ใน 25 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างเตรียมการ คาดว่าจะพร้อมใช้ภายใน 2 ปีนี้แล้วค่ะ
เนื่องจากตอนนี้ประเทศไทยของเรายังไม่มี local zones เมื่อต้องการเก็บข้อมูลก็จะเก็บไว้ที่ Availability zones ของสิงคโปร์ซึ่งใกล้ประเทศไทยมากที่สุด แต่ในอนาคตเมื่อมีการจัดตั้ง local zone ขึ้นมาแล้ว ข้อมูลก็จะสามารถเก็บในไทยได้เลยค่ะ
ข้อดีของการมี Local zones ในไทย
・รองรับพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)
ด้วย พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนนี้ กำหนดว่าในกรณีที่จะเก็บข้อมูลไว้นอกประเทศ จำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากลูกค้าผู้เป็นเจ้าของข้อมูลก่อน แต่ด้วยการใช้ local zones ทำให้เราสามารถเก็บข้อมูลในประเทศไทยได้เลย ไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมเพื่อไปเก็บข้อมูลนอกประเทศอีกต่อไป
・สามารถโหลดข้อมูลและเรียกแอปพลิเคชันขึ้นมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว
・สามารถสร้างและใช้งาน instance ในประเทศไทยได้เลย
สรุป
จะเห็นได้ว่าการมี local zones ในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ดีมากๆเลย เพราะตัว local zones นี้จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในเรื่องของการเรียกใช้ข้อมูลด้วยความแฝงต่ำ และเรื่องของ data localization ได้อีกด้วย
เราก็มานับถอยหลังรอวันที่จะมี Local zones ของเราเองกันค่ะ แนนเชื่อว่าจะต้องสะดวกสบายมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอนเลย แค่คิดก็ตื่นเต้นรอแล้วค่ะ!
ที่มา
AWS Local Zones ของกรุงเทพ เปิดให้ใช้งานแล้ว! เลยลองสร้าง EC2 Instance ดู (ap-southeast-1-bkk-1a)
AWS Region, Availability Zone และ Edge Location คืออะไร