Anki : Part 1 – Digital flashcard ตามใจฉัน

Anki : Part 1 – Digital flashcard ตามใจฉัน

บล็อกนี้จิ๋วจะมาแชร์ประสบการณ์การใช้งาน Anki ข้อดี-ข้อเสีย และเทคนิคการใช้งาน flashcard เรียนภาษาต่างประเทศ เหมาะสำหรับคนที่กำลังเรียนภาษาหรือกำลังหาเครื่องมือช่วยในการจดจำ เพราะAnki เป็นเครื่องมือสร้าง flashcard ที่ทรงพลัง ช่วยให้เราเรียนรู้และจดจำข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยSpaced Repetition System และ Active recall
Clock Icon2020.09.11

この記事は公開されてから1年以上経過しています。情報が古い可能性がありますので、ご注意ください。

สวัสดีค่ะทุกคน วันนี้จิ๋วจะมาแนะนำซอฟต์แวร์สำหรับการสร้างดิจิตัลแฟลชการ์ดที่จิ๋วใช้ในการเรียนภาษาญี่ปุ่นและจีนนะคะ โปรแกรมนั้นก็คือ Anki ค่ะ ซอฟต์แวร์ตัวนี้เป็นเครื่องมือยอดฮิตสำหรับคนเรียนภาษาเลยค่ะ เราจะเห็นคลิปแนะนำการใช้ Anki เป็นภาษาอังกฤษเยอะมาก แต่จิ๋วรู้สึกว่ายังไม่ค่อยมีใครอธิบายการใช้งานอย่างจริงๆจังๆ วันนี้เลยจะมาเขียนบล็อกแชร์ประสบการณ์การใช้งาน Anki ตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัยนะคะ เผื่อว่าจะมีใครสนใจใช้วิธีการเรียนแบบเดียวกันไปอัพสกิลภาษาต่างประเทศ

รู้จักกับ Anki

ตามที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้นะคะว่า Anki เป็นซอฟต์แวร์สำหรับสร้างแฟลชการ์ด ข้อดีคือโปรแกรมนี้เป็น freeware และ opensource หมายความว่าทุกคนสามารถโหลดใช้ได้ฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนใดๆทั้งสิ้น และสามารถดาวน์โหลดส่วนขยายเพิ่มเติมซึ่งบุคคลทั่วไปสร้างมาเพื่อให้ใช้โปรแกรมนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้นนะคะ เช่น ส่วนขยายที่ช่วยในการแสดงอักษรฟุริกานะ(เสียงอ่าน)ข้างใต้ตัวอักษรคันจิ(ตัวอักษรจีน)เวลาที่เรียนภาษาญี่ปุ่น สำหรับทีม Android สามารถโหลดแอพได้ฟรีเหมือนกันค่ะ แต่ทีม iOS นั้นต้องซื้อแอพนะคะ ราคา 749 บาท ถ้าใครไม่อยากซื้อแนะนำว่าใช้งานผ่านทางเว็บไซต์จะดีกว่าค่ะ

นอกจากนี้ยังมีคนมากมายมาแชร์ deck การเรียนซึ่งมีหลากหลายแขนงมากค่ะ ทั้งภาษา วิทยาศาสตร์ การแพทย์ เคมี ประวัติศาสตร์ กฎหมาย คือมีทุกอย่างแล้วจริงๆค่ะ ใครไม่เชื่อลองเข้าไปดูที่ลิ้งก์นี้แล้วทุกคนจะตกใจกับความตระการตาของแต่ละ deck ที่ผู้คนรังสรรค์มาแชร์กันนะคะ

Flashcard ของ Anki ช่วยทำให้จำได้ดียังไง

เมื่อหลายปีก่อนจิ๋วก็เคยคิดว่าการเรียนภาษาด้วยเฟลชการ์ดเหมือนเป็นการเรียนแบบท่องจำอย่างเดียว ซึ่งจำได้ไม่นานก็ลืม แต่หลังจากที่ได้ใช้แฟลชการ์ดช่วยเรียนจริงๆแล้ว จึงพบว่าการเรียนด้วยแฟลชการ์ดก็มีเทคนิคที่จะช่วยทำให้เราสามารถเรียน เข้าใจ และจำติดตัวเราไปจริงๆได้เหมือนกันค่ะ วิธีการใช้แฟลชการ์ดให้ได้ผลคือใช้เทคนิค Spaced Repetition System และ Active recall

Spaced Repetition System (SRS) คืออะไร

อย่างที่ทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่ายิ่งเวลาผ่านไป ความทรงจำของเราเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆก็จะยิ่งเสื่อมถอยลดลงจนจำไม่ได้ แต่หากเราทบทวนข้อมูลนั้นในช่วงเวลาที่สมองเหมือนกำลังจะลืม หรือช่วง"จำได้ลางๆ"เนี่ยแหละค่ะ มันจะช่วยให้เรากลับไปจำเนื้อหาได้ครบ 100% อีกครั้ง และข้อมูลนั้นก็จะอยู่ติดสมองเรานานขึ้นด้วย เมื่อทำแบบนี้ซ้ำๆ สุดท้ายเราจะจำข้อมูลนั้นได้แม่นมากและไม่ลืมในที่สุดค่ะ Spaced Repetition System ก็คือวิธีการทบทวนโดยเว้นระยะห่างการทบทวนที่ว่านี่แหละค่ะ

(เส้นสีฟ้าคือปริมาณข้อมูลที่จำได้เมื่อทบทวน ส่วนสีเทาคือปริมาณข้อมูลที่จำได้โดยปราศจากการทบทวน)

แล้วเราควรจะทบทวนเวลาไหนดี?
จิ๋วคิดว่าช่วงเวลาที่จำได้นานขนาดไหนก่อนจะลืมอาจจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล จิ๋วใช้วิธีสังเกตว่าช่วงเวลานานเท่าไหร่ถึงเริ่มจะจำไม่ได้ ยิ่งรู้สึกจำได้ลางๆเหมือนจะลืมเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เราต้องเค้นสมองและทำให้เกมแฟลชการ์ดของเราสนุกมากยิ่งขึ้นค่ะ แต่จากหนังสือ Fluent forever ของคุณ Gabriel Wyner ผู้เชี่ยวชาญการใช้แฟลชการ์ดในการเรียนภาษาและเป็นคนให้ไอเดียการใช้ Anki เขาแนะนำว่าให้จัดรอบทบทวนตามนี้ค่ะ
 1. ภายใน 24 ชั่วโมง
 2. 2 วันถัดมา
 3. 1 อาทิตย์ถัดมา
 4. 1 เดือนถัดมา
 5. 6 เดือนหรือ 1 ปีถัดมา
แต่ถึงเราจะไม่ได้จัดตารางเวลาทบทวนตามนี้เป๊ะก็ไม่เป็นไรนะคะ เพราะ Anki มีการให้คะแนนระดับความยากของการ์ดที่เราทบทวนเพื่อไปจัดเวลาทบทวนให้เราอัตโนมัติ หรือเราจะตั้งค่าระยะเวลาเว้นการทบทวนเองก็ได้ค่ะ

Active recall คืออะไร

Active recall คือการพยายามนึกถึงข้อมูลในความทรงจำ เพื่อทบทวนข้อมูลเหล่านั้น การทำแบบนี้จะให้ผลลัพธ์การจำข้อมูลที่ดีกว่าการเรียนด้วยการอ่านซ้ำหรือไฮท์ไลท์ข้อมูล เพราะเราได้เค้นพลังสมองในการจะจดจำหรือ เชื่อมโยงข้อมูลกับประสาทสัมผัส หรือ สร้างความผูกผันระหว่างตัวเรากับข้อมูลนั้นค่ะ เช่นการใส่ภาพลงไปในแฟลชการ์ด การใส่ข้อมูลที่เชื่อมโยงความทรงจำส่วนตัวกับคำศัพท์บางคำศัพท์ หรือการใส่ไฟล์เสียงลงไป ถ้าเราใช้ Anki เราก็จะสามารถใส่กระทั่งไฟล์เสียงลงไปในการ์ดได้ด้วย นี่เป็นจุดที่จิ๋วชอบมากเลยค่ะ เพราะแฟลชการ์ดแบบกระดาษหรือแอพหลายแอพไม่สามารถทำได้ และยังเปิดโอกาสให้เราสามารถปรับแต่งรูปแบบการ์ดได้อย่างอิสระมากที่สุดที่จิ๋วเคยเจอในบรรดาดิจิตัลการ์ดทั้งหมดเลยค่ะ

ข้อดี-ข้อเสียของ Anki

ข้อดี

  1. เป็น freeware และ opensource โหลดมาใช้งานได้ฟรี และส่วนขยายเพิ่มเติมใช้งานได้หลากหลาย
  2. มี deck ฟรีให้ดาวน์โหลดมาใช้เยอะ รวมถึงการนำเข้า-ส่งออก deck ที่เรามีกับเพื่อนๆได้
  3. Sync ข้อมูลกับเว็บไซต์ตลอด แม้จะไม่ได้เชื่อมต่อระดับนาที แต่ก็เพียงพอสำหรับใช้งานผ่านได้ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ แอพในมือถือ สลับกันไประหว่างวันได้อย่างสะดวก
  4. สามารถปรับแต่งการใช้งานได้หลากหลายมากๆ เช่น ข้อมูลในการ์ด(ภาพ เสียง วีดีโอ) เทมเพลตด้านหน้าและหลังของการ์ด ระยะเวลาการเว้นระยะ ฯลฯ
  5. ใช้ tag เขียนโค้ดการแสดงผลบนการ์ด จึงปรับแต่งความสวยงามได้ตามที่ต้องการ เช่น ปรับสีพื้นหลัง สีตัวอักษร ฟ้อนต์
  6. ประหยัดเวลาการสร้างการ์ดที่ต้องใส่ข้อมูลแบบเดียวกันซ้ำๆ สามารถสร้างการ์ดหลายใบได้ด้วยการใส่ข้อมูลเพียงครั้งเดียว
  7. จัดการ deck และการ์ด ได้ง่าย จะย้ายการ์ดบางใบไปอยู่ใน deck พิเศษ หรือการสร้าง filter deck เพื่อเรียนเฉพาะบางหัวข้อก็ได้ เช่นเรียนเฉพาะเรื่องกระดูกจาก deck วิชาชีววิทยา เป็นต้น

ข้อเสีย

  1. การใช้งานผ่านเว็บไซต์ไม่สามารถใส่รูปภาพและไฟล์มีเดียอื่นๆได้ หากเป็นการ์ดที่มีข้อมูลประเภทอื่นนอกจากตัวอักษรจะต้องสร้างในคอมพิวเตอร์อย่างเดียว
  2. เริ่มต้นใช้งานยาก เนื่องจากปรับแต่งได้หลายอย่างจึงทำให้รู้สึกจับต้นขนปลายไม่ถูกตอนเริ่มต้นออกแบบรูปแบบการ์ดที่ต้องการ

ตัวอย่างการ์ดที่จิ๋วสร้างโดยใช้ Anki

เวลาที่จิ๋วเรียนคำศัพท์ 1 คำ จิ๋วจะแตกเป็นการ์ดหลายๆใบเพื่อเรียนรู้องค์ประกอบของคำนั้น ซึ่งการใช้ Anki ช่วยให้เราสามารถสร้างการ์ดได้ทีละหลายใบในการใส่ข้อมูลเพียงครั้งเดียวค่ะ จากตัวอย่างจิ๋วกำลังเรียนคำศัพท์ภาษาจีนคำว่า 困难 จิ๋วจึงมีการ์ดย่อยๆเพื่อเรียนรู้ทั้งเสียงอ่าน การเขียนตัวอักษร ความหมาย เป็นต้น





สรุป

Anki เป็นเครื่องมือสร้าง flashcard ที่ทรงพลังมาก ช่วยให้เราสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งจากคอมพิวเตอร์ที่บ้าน บนเว็บไซต์ ในมือถือ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการเรียนภาษา แค่แบ่งเวลาวันละเล็กน้อยไปกับการเรียนรู้ผ่านแฟลชการ์ดก็จะทำให้เราเก่งภาษาขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ ตัวจิ๋วลองใช้ Anki สร้างแฟลชการ์ดเรียนภาษาญี่ปุ่นและจีนมาแล้ว รู้สึกว่าช่วยให้จิ๋วสามารถสนุกไปกับการเรียนภาษาและพัฒนาขึ้นมากๆเลยค่ะ ถึงขนาดที่อาจารย์ในชั้นเรียนยังสังเกตได้และเอ่ยปากชมเลย จิ๋วเลยอยากแนะนำให้ทุกคนลองใช้ Anki ดูมากๆค่ะ ในครั้งหน้าจิ่วจะมาร่วมสร้างแฟลชการ์ดไปพร้อมกับทุกคน สามารถไปอ่านต่อได้ที่ลิ้งก์ตามด้านล่างเลยค่ะ

Anki : Part 2 - สร้าง flashcard ใบแรก step by step
Anki : Part 3 - สร้าง flashcard ทีละหลายใบ

Share this article

facebook logohatena logotwitter logo

© Classmethod, Inc. All rights reserved.