IaaS PaaS SaaS บริการคลาวด์ที่ช่วยให้คุณสบายขึ้น
IaaS PaaS SaaS บริการคลาวด์ที่ช่วยให้คุณสบายขึ้น
บล็อกก่อนเราคุยกันเรื่องความแตกต่างของ On-premise และ Cloud แล้วมีการเล่าถึงการใช้งานคลาวด์ในระดับที่แตกต่างกัน บล็อกนี้เลยจะมาเล่าว่า บริการคลาวด์มีกี่แบบ แล้วแต่ละแบบเหมาะกับงานแบบไหน
ประเภทของบริการคลาวด์
ประเภทของคลาวด์ที่นำมาเล่าให้ฟังนี้แบ่งเกณฑ์ตามหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแล
ในภาพด้านบนจากซ้ายไปขวา คือ On-premise IaaS PaaS และ SaaS
จากภาพด้านบน พื้นที่สีฟ้า คืองานที่เราจะต้องรับผิดชอบดูแล ทั้งการจัดหามาใช้งาน ตั้งค่า ไปจนถึงงานบำรุงรักษา เราจะเห็นว่าหากเรานำงานมา deploy ใช้งานที่ On-premise เราจะต้องจัดหาทุกอย่างตั้งแต่การเตรียมศูนย์ข้อมูล ไปจนถึงขั้นตอนของการสร้างแอปพลิเคชัน จากตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่คลาวด์สามารถเข้ามาช่วยลดภาระงานของเราได้ในระดับที่แตกต่างกัน
สรุปคลาวด์ 3 แบบ สั้น ๆ
เราสามารถใช้งานคลาวด์ได้หลัก ๆ 3 ระดับ
1. Infrastructure
เป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบ เช่น เครื่องมือประมวลผล (Compute/CPU) , ที่จัดเก็บข้อมูล (Storage) , เครือข่าย (Network) และอื่น ๆ
? เราเรียกเครื่องมือคลาวด์พวกนี้ว่า Infrastructure-as-a-service
หรือ IaaS
2. Platform ส่วนใหญ่จะเป็นแอปพลิเคชันสำหรับนักพัฒนาเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นอื่น ๆ ต่อ เช่น database server, Salesforce , Github และอื่น ๆ
? เราเรียกเครื่องมือคลาวด์พวกนี้ว่า Platform-as-a-service
หรือ PaaS
3. Software
เป็นแอปพลิเคชันสำเร็จรูป พร้อมใช้ เช่น Slack, Zoom, Microsoft
? เราเรียกเครื่องมือคลาวด์พวกนี้ว่า Software as a Service
หรือ SaaS
หากเปรียบการทำงานหนึ่งเหมือนกับการทำอาหาร สมมติว่าเราต้องการทำเมนูแกงกะหรี่ขึ้นมา การ deploy แบบ On-premise ก็เหมือนเราต้องไปซื้อผักจากสวน ซื้อปลาจากตลาดปลา ทุกอย่างต้องทำเองหมด แต่คลาวด์แต่ละเลเวลก็เหมือนบริการที่ช่วยให้เราทำอาหารเสร็จเร็วขึ้น ได้กินแกงกะหรี่แบบสะดวกสบาย ง่ายขึ้น
IaaS วัตถุดิบสุด raw
IaaS เปรียบเหมือน เนื้อสัตว์ที่แล่มาแล้ว หรือวัตถุดิบทำอาหารที่ผ่านการเตรียมมาแล้ว เป็นสิ่งพื้นฐานแบบ raw สุด ๆ ที่เราต้องใช้ในการทำอาหาร แต่เราก็ยังคงต้องหาสูตรอาหาร ปรุงอาหารเอง จึงจะออกมาเป็นแกงกะหรี่ได้
ข้อดีคือเมื่อเราเริ่มต้นจากสิ่งที่พื้นฐาน ใช่วัตถุดิบที่ raw สุด ๆ แบบนี้ เราจะมีอิสระในการปรับแต่ง ตั้งค่า และขยายได้อิสระที่สุด เมื่อเทียบกับ On-premise แล้วเราได้ประโยชน์ ความสะดวกสบาย ความสามารถในการปรับเปลี่ยน (Flexibility & Elasticity) และขยายขนาดรองรับงานขนาดใหญ่ได้ยืดหยุ่นกว่า (scalability) เราสามารถสร้างระบบให้มีสำรองไว้ในหลายพื้นที่เพื่อลดความเสี่ยงเมื่อระบบล่ม (redundancy) เพิ่มประสิทธิภาพเพราะผู้ให้บริการเจ้าใหญ่อย่าง AWS มีระบบเครือข่ายที่แข็งแรงมาก (efficiency) ฯลฯ
แต่ก็แลกมากับข้อเสียคือ ต้องใช้ความรู้ในการบริหารจัดการ และยังมีงานในส่วนที่เราต้องสร้างหรือรับผิดชอบดูแลเหลืออยู่เยอะกว่าแบบอื่น ๆ ถ้าเราไม่มีความรู้ก็เหมือนกับคนที่ทำอาหารไม่เป็น ต้องใช้ตัวช่วยเพิ่มเติมเพื่อให้ได้กินแกงกะหรี่ค่ะ
ตัวอย่างเครื่องมือเช่น Amazon EC2 (Compute), Amazon S3 (Storage)
PaaS ตัวช่วยทำอาหาร
PaaS เปรียบเหมือน ตัวช่วยทำอาหาร เช่น เครื่องแกงกะหรี่ สูตรตำราทำอาหาร หรือเซ็ตพร้อมทำ ที่ให้เราทำงานได้ง่ายมากขึ้น ดีมากขึ้น หรือทำออกมาได้เยอะมากขึ้นแต่ทำด้วยตัวเองน้อยลง
ข้อดีหลัก ๆ ก็คือ ใช้งานง่ายและดูแลน้อยกว่า IaaS เพราะ PaaS ได้เตรียมทั้ง Hardware, Software หรือ Framwork ให้เป็นพื้นที่ให้เราได้ไปต่อยอดเขียนโค้ดหรือพัฒนาอื่น ๆ ต่อ
ตัวอย่างเครื่องมือเช่น AWS Elastic Beanstalk (เครื่องมือช่วย deploy และทำ scaling ขยายขนาดตามโหลดให้กับแอปพลิเคชัน) AWS App Runner (เครื่องมือช่วยสร้างและปรับขนาด Container อัตโนมัติ)
SaaS สั่งเดลิเวอรี่
SaaS เป็นซอฟต์แวร์พร้อมใช้ที่เราไม่ต้องไปพัฒนาอะไรอีกแล้ว ใช้ได้เลย เปรียบเหมือนแกงกะหรี่ที่เราสั่งเดลิเวอรี่มา เราอาจจะต้องตั้งค่านิดหน่อย (ในที่นี้ก็คือไปหยิบถ้วยชามมาใส่อาหาร) แต่เราแทบจะไม่ต้องเตรียมอะไรก็สามารถกินแกงกะหรี่ได้เลย
ตัวอย่างเครื่องมือเช่น Amazon QuickSight (เครื่องมือ BI สำหรับวิเคราะห์ข้อมูล)
สรุป
เราสามารถเลือกใช้เครื่องมือคลาวด์ โดยพิจารณาจากมุมมองของความรับผิดชอบในการดูแลระบบ และอิสระในการปรับแต่งได้ เช่น หากเราสร้างแอปพลิเคชันต่าง ๆ ตั้งแต่บน low-level infrastructure หรือการใช้งาน Infrastructure บนคลาวด์ หรือ IaaS ก็จะต้องให้มีเจ้าหน้าที่คอยบริหารจัดการ
หรือถ้าสร้างแอปพลิเคชันด้วยบริการแบบ higher-level (higher-level service) เช่น Platform (PaaS) หรือ Software (SaaS) บนคลาวด์ ก็จะช่วยลดงานบริหารจัดการด้วยตนเองลงได้
บล็อกอื่นที่อยากให้มือใหม่อ่าน
สำหรับผู้ที่เริ่มต้นศึกษา AWS ขอแนะนำให้อ่านบล็อกด้านล่างนี้ค่ะ
AWS 101 ฉบับเรียนด้วยตัวเอง : AWS คืออะไร
คลาวด์คืออะไร เปรียบเทียบความแตกต่าง On-premise และ Cloud AWS
AWS Region, Availability Zone และ Edge Location คืออะไร
แหล่งอ้างอิง
มารู้จักคลาวด์เพลตฟอร์มเพื่อเลือกใช้งาน กันหน่อยดีกว่า
saas paas iaas คือ อะไร 3 software as a service ระบบ cloud saas
Main cloud service models: IaaS, PaaS and SaaS