AWS คืออะไร? ภาพรวมที่ควรรู้ไว้ก่อนเริ่มใช้งานคลาวด์

สวัสดีค่ะทุกคน บล็อกนี้จะมาแนะนำโดยภาพรวมว่าคลาวด์ AWS คืออะไร โดยแนนได้สรุปเนื้อหาส่วนหนึ่งจากงานอบรม AWSomeday Online Conference 2022 พร้อมอธิบายข้อมูลและคำศัพท์เทคนิคเพิ่มเติม หวังว่าจะช่วยให้ผู้เริ่มต้นใช้งานคลาวด์ได้ศึกษาและเข้าใจมากยิ่งขึ้นนะคะ

この記事は公開されてから1年以上経過しています。情報が古い可能性がありますので、ご注意ください。

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา แนนได้มีโอกาสเข้าร่วม AWSome day online conference เลยอยากจะมาเขียนสรุปความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วม และอยากจะมาแชร์ให้ทุกๆคนได้อ่านกันด้วยค่ะ

เนื่องจากตัวแนนเองก็ยังเป็นมือใหม่มากๆในเรื่องของคลาวด์ ยังมีสิ่งที่ไม่ค่อยเข้าใจและต้องเรียนรู้อีกมาก เลยอยากจะมาเขียนบล็อกนี้ เผื่อจะช่วยให้ทุกคนที่ยังไม่รู้จักคลาวด์มากนัก ได้ค่อยๆรู้จักไปพร้อมๆกันด้วยนะคะ นอกจากสรุปเนื้อหาของงาน AWSome day แล้ว แนนก็จะมาแชร์บล็อกต่างๆที่ทีมงานคลาสเมธอดเคยเขียนไว้ เผื่อเพื่อนๆจะได้ไปตามอ่านกันต่อได้ด้วยนะคะ ถ้าพร้อมแล้วก็ไปเริ่มกันเลยยยย (o゚v゚)ノ

AWSome day คืออะไร?

งานอบรมเกี่ยวกับคลาวด์ AWS ที่จะมาให้ความรู้พื้นฐานที่มือใหม่ควรรู้ไว้ เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นศึกษาการใช้งานคลาวด์ โดยเนื้อหาแบ่งออกเป็น 5 โมดูล

โมดูล 1 : ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ AWS

โมดูล 2 : ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับบริการของ AWS(การประมวลผล ที่จัดเก็บข้อมูลและฐานข้อมูล)

โมดูล 3 : ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับบริการของ AWS(ระบบเครือข่ายและความปลอดภัย)

โมดูล 4 : นวัตกรรมกับ AWS

โมดูล 5 : สรุปหลักสูตร

เนื้อหาในบล็อกเป็นการสรุปสาระสำคัญจากงาน AWSomeday Conference และนำมาเรียบเรียงใหม่เพื่อนำเสนอให้ผู้เริ่มต้นใช้งานคลาวด์สามารถเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยบล็อกนี้แนนจะมาแนะนำถึงความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคลาวด์ที่ทุกคนควรต้องรู้ไว้ก่อนเริ่มใช้งาน ถ้าพร้อมแล้วก็ไปเริ่มกันเลย!

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ AWS

ในบล็อกนี้จะมาเล่าเกี่ยวกับคลาวด์อย่างคร่าวๆ เช่น ระบบคลาวด์คืออะไร ข้อดีของการใช้งานคลาวด์ โมเดลการใช้งานคลาวด์ คอนเซปต์การให้บริการคลาวด์ เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นที่สนใจอยากใช้งานคลาวด์

คลาวด์คืออะไร

Cloud Computing หมายถึง การให้บริการเช่าใช้งาน เช่น infrastructure (disk, storage ฯลฯ) หรือ software ผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือพูดง่ายๆก็คือเหมือนเวลาที่เราไปเช่าคอมพิวเตอร์ของคนอื่นใช้นั่นเอง

มีจุดเด่นคือความยืดหยุ่น เพราะผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนทั้งดีไซน์หรือโครงสร้างได้ง่าย เพียงแค่กดไม่กี่คลิก อีกทั้งยังคิดค่าบริการแบบ pay as you go เราจะเริ่มหรือหยุดการใช้งานเมื่อไรก็ได้ ทำให้สามารถปรับให้ตรงตามความต้องการใช้งานได้ตลอด

สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคลาวด์ได้ที่บล็อกนี้เลยนะคะ
คลาวด์คืออะไร เปรียบเทียบความแตกต่าง On-premise และ Cloud AWS

สำหรับใครที่เคยใช้งานแต่แบบ on-premise ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับคลาวด์ อาจจะสงสัยว่างานของเราจะใช้งานคลาวด์ได้ไหม แนนก็ต้องบอกก่อนเลยค่ะว่า ทาง AWS มีบริการเครื่องมือให้เลือกใช้เยอะมากๆ ซึ่งจากรูปด้านบนคือการเปรียบเทียบการใช้งานระหว่างแบบ on-premise และ on-cloud จะเห็นได้ว่าAWS มีเครื่องมือรองรับในทุกๆด้านเลย ไม่ว่าจะเป็นด้านการรักษาความปลอดภัย ด้านเครือข่าย ด้านเซิร์ฟเวอร์ รวมไปถึงพื้นที่จัดเก็บ ซึ่งที่ยกมานี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น AWS ยังมีเครื่องมือให้บริการอีกมากมาย เรียกได้ว่าเราสามารถเลือกใช้ให้ตรงกับความต้องการของเราได้เลย

ข้อดีของการใช้งานคลาวด์

1. ประหยัดค่าใช้จ่าย

→ ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อ server ก่อนรู้ปริมาณการใช้งาน

2. ใช้งานคลาวด์ได้ในราคาถูก

→ เนื่องจากมีผู้ใช้งาน AWS เป็นจำนวนมาก ทำให้เราสามารถใช้ AWS ได้ในราคาที่ถูกลง

3. ไม่จำเป็นต้องประเมินทรัพยากรที่จะใช้

→ AWS สามารถเพิ่มหรือลดตาม requirement ที่เปลี่ยนได้ตลอดเวลา

4. ไม่จำเป็นต้องจ้างบุคลากร

→ AWS จะช่วยดูแลให้ สามารถช่วยลดภาระงานของพนักงานได้ด้วย

5. สามารถปรับตัวได้รวดเร็วและคล่องตัว

→ ทำให้เราสามารถสร้างและ deploy นวัตกรรมใหม่ได้ตลอด

6. สามารถปรับใช้ไปทั่วโลกในเวลาไม่กี่นาที

→ ช่วยเพิ่ม user experiences

Cloud deployment model

Cloud deployment model หรือทางเลือกในการใช้งานคลาวด์ มีทั้งหมด 3 รูปแบบ ดังนี้

1. On-cloud deployment

คือการใช้งานบนคลาวด์อย่างเต็มรูปแบบ

2. On-premise deployment

คือการซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลภายในองค์กร การใช้งานรูปแบบนี้ เราจำเป็นจะต้องจัดเตรียมห้องสำหรับเก็บเครื่องเซิร์ฟเวอร์ อีกทั้งต้องตรวจสอบ ดูแลทุกอย่างด้วยตัวเอง

3. Hybrid

คือการใช้งานผสมกันทั้ง 2 รูปแบบ เชื่อมต่อระหว่างทรัพยากรบนคลาวด์ (cloud-based resources) กับโครงสร้างอื่น ๆ ใน on-premise

สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Cloud deployment model ได้ที่บล็อกนี้เลยนะคะ
คลาวด์คืออะไร เปรียบเทียบความแตกต่าง On-premise และ Cloud AWS

AWS global structure

หรือก็คือ โครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการทั่วโลกของ AWS โดยที่จะแบ่งย่อยๆออกไปเป็น Region, Availability zone, Edge location

Region

    AWS กำหนดแบ่งพื้นที่ให้บริการออกเป็น Region หรือที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ถ้าบริเวณไหนมีผู้ใช้งานคลาวด์เยอะ ทาง AWS ก็จะตั้ง Region ขึ้นมา ปัจจุบันมีทั้งหมด 26 Regions กระจายอยู่ทั่วโลก Region ที่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุดคือสิงคโปร์

Availability zone (AZ)

    คือศูนย์ข้อมูล ในทุกๆ 1 Region จะมี Availability zone 3 โซนขึ้นไป และโซนเหล่านี้จะอยู่กระจายตัวกัน เพื่อป้องกันการล่มของศูนย์ข้อมูล แต่จะเชื่อมต่อกันผ่าน low latency network ทำให้มั่นใจได้ว่าเราจะมี Availability zone ที่มีความพร้อมใช้งานอยู่เสมอและทนทานสูงนั่นเอง

    และในส่วนของ Region สิงคโปร์ที่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุดก็มี Availability zone 3 โซนเช่นกันค่ะ

Edge infrastructure

    คือศูนย์เซิร์ฟเวอร์ มีไว้เพื่อใช้ในการรับส่งข้อมูลทั้งส่งแบบโดยตรง หรือมาจัดเก็บเอาไว้เป็น cache ใน Edge location ที่ใกล้กับผู้ใช้งานมากที่สุด เพื่อลด latency ลดค่าใช้จ่าย รวมไปถึงสามารถเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้

บริการหลักที่ใช้งานผ่านเอดจ์โลเคชั่นคือ Cloudfront ซึ่งเป็นเครือข่ายการจัดส่งข้อมูล (CDN)

นอกจาก Cloudfront แล้ว ก็ยังมีบริการอื่นๆที่ใช้งานผ่านเอดจ์โลเคชั่นด้วย เช่น AWS Outposts / AWS Wavelength / AWS Local zones
ซึ่งแนนเคยเขียนบล็อกเกี่ยวกับ Local zones ไว้แล้ว สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Local zones ได้ที่บล็อกนี้เลยนะคะ
Local zones คืออะไร? สิ่งที่ควรรู้ไว้ก่อนจะมี Local zones ในประเทศไทย!

สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Region, Availability zone, Edge location ได้ที่บล็อกนี้เลยนะคะ
AWS Region, Availability Zone และ Edge Location คืออะไร

วิธีการเข้าถึงและใช้งาน AWS

AWS Management Console

    การเข้าไปบริหารจัดการ AWS resources บนคอนโซลผ่าน web browser หมายความว่าสามารถเข้าใช้งานได้ทุกพื้นที่ที่มี Internet เลย และใช้งานได้อย่างง่ายอีกด้วย

AWS Command Line Interface

    อีกหนึ่งในเครื่องมือเบ็ดเสร็จ ที่เราสามารถกำหนดให้บริการ AWS ทำงานด้วยชุดคำสั่งได้

สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CLI และวิธีติดตั้งได้ที่บล็อกนี้เลยนะคะ
→ AWS CLI คืออะไร? ขั้นตอนและวิธีใช้สำหรับมือใหม่

Software Development Kit (SDK)

    หรือชุดเครื่องมือพัฒนาซอฟต์แวร์ สำหรับใครที่สร้างหรือพัฒนาแอปพลิเคชันอยู่แล้ว ก็สามารถเข้าไปตั้งค่า AWS ผ่านทางแอปพลิเคชันนั้นๆ หรือผ่าน code ที่ถนัดได้เลย

บล็อกแนะนำสำหรับมือใหม่เรื่องคลาวด์

สำหรับเพื่อนๆที่อยากหาข้อมูลเกี่ยวกับคลาวด์เพิ่ม สามารถอ่านได้ตามลิงก์ด้านล่างเลยนะคะ แนนรวบรวมบล็อกที่เหมาะสำหรับมือใหม่มาไว้ให้แล้ว หรือสามารถเข้าไปดูที่เว็บไซต์ของ Classmethodก็ได้ค่ะ มีบล็อกให้อ่านเยอะแยะเลย อย่าลืมตามไปอ่านกันน้า (ノ◕ヮ◕)ノ*:・゚✧

คลาวด์คืออะไร เปรียบเทียบความแตกต่าง On-premise และ Cloud AWS

AWS 101 ฉบับเรียนด้วยตัวเอง : AWS คืออะไร

AWS Region, Availability Zone และ Edge Location คืออะไร

IaaS PaaS SaaS บริการคลาวด์ที่ช่วยให้คุณสบายขึ้น

รู้จักผู้ให้บริการ Public cloud อันดับ 1 ในตลาด : AWS 101


ผู้เขียน: สริตา ทวีเติมสกุล (แนน)

บรรณาธิการ: จิราภรณ์ สว่างอารมณ์ (จิ๋ว)